รีวิวหนัง วิเคราะห์หนัง : ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์
จากจุดเริ่มต้นการโกงข้อสอบในห้องเรียนจะลุกลามบานปลาย จนกลายเป็นการโจรกรรมข้อสอบถึงระดับประเทศ พวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่แค่นักเรียนมัธยม แต่คือตัวแทนที่สะท้อนการโกงในทุกระดับชั้นของสังคมไทย จากภาพยนตร์ปรากฏการณ์ ฉลาดเกมส์โกง สู่ละคร ฉลาดเกมส์โกง ที่จะพาคุณไปไกลกว่าเดิม ด้วยเรื่องราวของตัวละคร และบทสรุปที่ใหญ่กว่า ใหม่กว่า และท้าทายยิ่งกว่า
หลังจากที่ ‘ฉลาดเกมส์โกง’ (Bad Genius) เวอร์ชันภาพยนตร์ที่กำกับโดย นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ที่ออกฉายในปี 2560 สามารถกวาดเสียงตอบรับชื่นชมมากมาย กวาดรายได้ไปกว่า 113 ล้านบาทในประเทศไทย แถมยังออกไปโกยรายได้ในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก มาในปีนี้ GDH จึงได้เริ่มพัฒนาหนังเรื่องนี้ให้อยู่ในรูปแบบของซีรีส์ และเปลี่ยนนักแสดงใหม่ทั้งหมด ในชื่อ ‘ฉลาดเกมส์โกง เดอะซีรีส์’ (Bad Genius The Series) โดยครั้งนี้ ทาง GDH ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มสตรีมมิงเจ้าใหญ่ของจีน WeTV ที่จะฉายซีรีส์นี้ในรูปแบบ Simulcast ให้คนไทยและคนจีนกว่าพันล้านคนได้ชมไปพร้อม ๆ กัน
แม้ว่าโดยรวมของซีรีส์เรื่องนี้ จะมีภาพรวมที่ชวนให้คิดไปว่าจะดึงกลิ่นอายเดิมจากในหนังมาชัดเจน และให้หมายรวมไปถึงพล็อตที่เน้นหนักในเรื่องของการเปิดโปง ตีแผ่เรื่องราวดราม่าในโรงเรียน ทั้งเรื่องของความเหลื่อมล้ำ โอกาสทางการศึกษาที่มีไม่เท่ากัน รวมไปถึงประเด็นดาร์กโลกแตกอย่างเรื่องของการเรียกแป๊ะเจี๊ยะ การที่ครูหารายได้เสริมด้วยการติวพิเศษแล้วแอบเอาข้อสอบมาเฉลยก่อน อันนำไปสู่สาเหตุของการ “โกง” ตั้งแต่การโกงข้อสอบเล็ก ๆ ในโรงเรียน จนถึงการโกงข้อสอบระดับโลกเลยทีเดียว
แต่สิ่งที่ในซีรีส์สามารถทำให้ต่างออกไปอย่างชัดเจนมาก ๆ คือการเพิ่มเรื่องราวตีแผ่ประเด็นต่าง ๆ ที่ตัวละครแต่ละตัวต้องเจอ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นการสะท้อนเรื่องราวของสังคมไทยแทบทั้งนั้น ทั้งเรื่องของความหวังในการใช้การศึกษา เพื่อจะเปลี่ยนฐานะและสถานะทางสังคม การทำตาม Passion ของเด็กวัยรุ่น ม.ปลาย แต่ละคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน แต่กลับต้องถูกวัดผลความสามารถด้วยคะแนนการสอบ การมี Conflict of Interest (ผลประโยชน์ทับซ้อน) ในโรงเรียน รวมถึงเรื่องของประเด็นปัญหาเรื้อรังในสังคมในหลาย ๆ จุดที่แก้ไม่หายด้วย
เห็นด้วย แน่นอนว่า ในหนัง เรื่องราวของการ “โกง” นั้นถือว่าเป็นทีมใหญ่ที่ครอบคลุมตัวหนังไว้อยู่ ซึ่งแม้ว่าตัวหนังจะเล่าเรื่องของการออกแบบกลไกการโกงของครูพี่ลินและพรรคพวก แต่สิ่งที่ในหนังพยายามจะเล่าต่อออกมานั่นก็คือ เรื่องของการ “โกง” แม้ว่าการโกงของลินนั้นเป็นสิ่งผิด แต่การที่ลินต้องยอมโกง ก็ทำอยู่ภายใต้เหตุผลของการ “โกงล้างโกง” อีกทีหนึ่ง ซึ่งนั่นก็หนักแน่นพอที่จะทำให้เราเอาใจช่วยลินในการโกงข้อสอบไปโดยปริยาย
รวมถึงเรื่องของการออกแบบในเนื้อเรื่อง และโจทย์ของการโกงในรูปแบบต่าง ๆ ให้ “ฉลาด” สมกับชื่อหนัง มีความสนุก ตื่นเต้น พลิกล็อกอยู่ตลอดทั้งเรื่องจนแทบจะเดาทางหนังไม่ถูก อีกทั้งยังสามารถคุม Mood & Tone ของหนังให้ออกมาเหมาะสม ซึ่งนี่คือสิ่งที่หนัง และในซีรีส์สามารถทำได้อย่างสำเร็จสวยงามในระดับใกล้เคียงกัน
ส่วนที่ไม่เห็นด้วยเพราะ สิ่งที่ซีรีส์กำลังจะทำ คือการแผ้วทาง “ทางเลือกใหม่ ๆ ” ในการเล่าเรื่องนี้ให้ต่างจากความเป็นหนังอยู่พอสมควรเหมือนกัน แม้ว่าพล็อตโดยรวมของ 2 อีพีแรก จะมีทิศทางคล้าย ๆ กับเนื้อหาในช่วงครึ่งแรกในหนัง แต่สิ่งที่ในซีรีส์เติมต่อมาจากหนังนั่นก็คือเรื่องของการพยายามอุดรูรั่วต่าง ๆ ในหนัง เช่นการออกแบบของการโกงข้อสอบด้วยตัวโน้ตเปียโน ซึ่งในซีรีส์ก็มีการปรับแต่ง “อะไรบางอย่าง” ทำให้ตัวซีรีส์ในอีพี 1-2 มีความแตกต่างจากเนื้อหาครึ่งแรกของหนังอย่างน่าสนใจ